Koh Samui Attraction Places information

Koh Samui Attraction Places information
Cheap & Discount Excursions booking and Transfer Service in Koh Samui Thailand

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

Samret Temple วัดสำเร็จ

วัดสำเร็จ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ต.มะเร็ต วัดนี้มีอาคารเก่าสมัยรัชกาลที่ 6-7 เหลืออยู่ให้ชมเช่นกัน สิ่งที่ควรนมัสการคือ เจดีย์เก่า และเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านขรัวพุทธสรณ์ พระศิลายวง (พระประธานในอุโบสถของวัด) มีรูปปั้นหลวงปู่เพชร ติสโส และ พระครูทีปาจารคุณารักษ์ หรือ หลวงพ่อมี อินทสุวัณโณ อดีตเจ้าคณะอะเภอเกาะสมุย รูปที่ 4 พระแท้แห่งเกาะสมุย


Coral Buddha in the hall of Samret Temple
พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระปูนปั้นยุคเก่าจำนวนมาก เดิมที่ผนัง(ด้านเจดีย์ที่บรรจุอัฐิท่านขรัวพุทธสรณ์) มีรอยเท้าสองรอยประทับเป็นรอยอยู่อย่างรางเลือน และมีร่องรอยปิดทองโดยชาวบ้านผู้ศรัทธา รอยเท้าดังกล่าวเป็นรอยเท้าของท่านขรัวพุทสรณ์ดังที่ชีวิวัฒน์ กล่าวว่า "ที่ผนังข้างริมประตูข้างขวามีรอยเท้าคนกดอยู่ที่ออิฐผนังสองรอย ชาวเกาะนิยมถือว่าเป็นรอยเท้าขรัวพุดษรกดไว้" (หน้า 44) ปัจจุบันผนังพระวิหารได้รับการบูรณะใหม่แม้จะยังมีรอยปิดทองในตำแหน่งที่เคยมีรอยเท้า แต่เพราะผนังเดิมบริเวณนั้นถูกทุบทิ้งแล้วก่อผนังใหม่ รอยปิดทองที่ปรากฏจึงเป็นเพียงการบ่งบอกตำแหน่งที่เคยเป็นที่ปรากฏรอยเท้านั่นเอง


เจดีย์บรรจุอัฐิท่านขรัวพุทธสรณ์ จากข้อความที่จารึกบนแผ่นไม้ในวัดสำเร็จ สันนิษฐานว่าท่านพระครูวิบูลย์ธรรมสาร หลวงปู่เพชร ติสโส เป็นผู้สร้างขึ้นหรือปฏิสังขรณ์ เมื่อประมาณต้นทศวรรษที่ 2440 สมัยรัชกาลที่ 5


เจดีย์เก่า ที่หนังสือ ชีวิวัฒน์ระบุว่าเป็น 1 ในจำนวนเจดีย์ 3 องค์ที่ท่านขรัวพุทธสรณ์สร้างไว้ในเกาะสมุย ซึ่งหากเป็นดังนั้นก็จะเป็นเจดีย์สมัย อยุธยาตอนปลาย
อนึ่ง จากการที่สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช ได้ทำการบูรณะเจดีย์เก่าวัดสำเร็จเมื่อปี พศ. 2544 เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งระบุว่าเป็นเจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์ และไม่พบโบราณวัตถุใดๆที่ในเจดีย์เลย
เรื่องการไม่พบโบราณวัตถุนั้น สอดรับกับคำบอกเล่าที่ว่า ตอนต้นศตวรรษที่ 2500 เมื่อหลวงพ่อมีเจ้าอาวาสวัดสำเร็จขณะนั้น มีกิจธุระเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้มีการลักลอบขุดเจดีย์องค์นี้ ผู้ขุดได้โบราณวัตถุไปเป็นจำนวนมาก เช่น พระยอดธงเนื้อเงิน เนื้อทองคำ เป็นต้น

เรือนรับรองพระอาคันตุกะ วัดสำเร็จ ฝีมือหมื่นพยาธิบำบัด ( ดำ ใจกว้าง)
หอไตร วัดสำเร็จ สร้างเมื่อปี พศ. 2469

ภายในหอไตร ภายในวัดสำเร็จ
อาคารด้านซ้ายของภาพข้างบนนี้คือ พระวิหาร ด้านขวาคือ อุโบสถ ของวัดสำเร็จ

Pra Silayuang (White Jade Buddha) The principle Buddha images in the chapel of Samret Temple
พระประธารศิลายวง พระประธานในอุโบสถวัดสำเร็จ แกะสลักจากหินขาว ที่ชาวเกาะเรียกว่า ศิลายวง จัดเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญอย่างหนึ่ง เป็นพระที่มีแหล่งกำเนิดในมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ที่ได้มาประดิษฐาน ณ เกาะพงัน - สมุย มีความเป็นมาดังนี้
พ่อท่านขิก ชาวท่าฉาง ได้มาพำนักอยู่ที่วัดมะเดื่อหวาน เกาะพงันประมาณ 2-3 ปี โดยมาพร้อมกับ พระดำ ใจกว้าง ชาวเกาะสมุย
พ่อท่านขิก เคยเดินธุดงค์ไปพม่า ลังกา มาหลายหน จนช่ำชองในเส้นทางเป็นอย่างดี ท่านมักเล่าชาวบ้านถึงเรื่องพระศิลายวงในเมืองพม่าอยู่บ่อยๆว่ามีลักษณะผิวเนื้องดงาม เป็นสง่า กระทั่งชาวบ้านเกิดศรัทธาอยากได้มาสักการะบูชาในประเทศไทยบ้าง จึงได้ทำการเรื่ยไรเงินเพื่อไปอัญเชิญมาจากประเทศพม่า
ชาวบ้านรวบรวมเงินได้ประมาณ 8-10 ชั่งแล้ว พ่อท่านขิกพร้อมด้วยพระดำ ใจกว้าง พระวาด ชาวท่าฉาง(เป็นญาติกับพ่อท่านขิก) และสามเณรรุ่น ก็ได้ออกเดินทางไปอัญเชิญพระศิลายวงมาจากประเทศพม่า
การเดินทางเริ่มด้วยการนั่งเรือจากเกาะไปขึ้นฝั่งแล้วเดินธุดงค์ไปยังกระบุรี จังหวัดระนอง เมื่อถึงบริเวณฝั่งพม่า ใกล้บ้านปากจั่นขณะพักค้างแรมที่นั่น มีชาวบ้านถึงแก่ความตายด้วยไข้ทรพิษ เมื่อได้รับการนิมนต์ไปไปทำพิธีทางศาสนา พ่อท่านขิกเป็นผู้ชักผ้าบังสุกุลศพ เป้นเหตุให้ท่านติดเชื้อ
การเดินทางต้องชะงักลงเพราะพ่อท่านขิกป่วยด้วยไข้ทรพิษ พอครบ 7 วัน ก็มีอาการผิวหนังปริทั้งตัว แล้วหลุดร่วงลงมา ท่านเกิดอาการร้อนรนจนถึงแก่มรณภาพ ฝังศพพ่อท่านขิกแล้ว พระดำ ใจกว้าง ก็นำพระวาด และสามเณรรุ่น ออกเดินธุดงค์ตามเส้นทางที่พ่อท่านขิกบอกไว้ ต่อไป
ระหว่างทางในเขตแดนพม่าได้ถูกพวกโจรปล้นชิงเงินถึง 2-3 ครั้ง เงิน 8-10 ชั่งในสมัยนั้นมีจำนวนมาก จนต้องให้พระวาด และสามเณรรุ่นเป็นผู้แบกถุงเงิน ในทุกครั้งที่ถูกพวกโจรปล้น พระดำ ได้ทำการต่อสู้ขัดขวางจนพวกโจรกระทำการมิสำเร็จ ต้องถอยหนีไป
เดินรอนแรมอยู่ในป่าเขาพงไพรที่แสนธุรกันดารเป็นเวลานาน ในที่สุดก็บรรลุถึงเมืองมัณฑะเลย์ ซื้อหาพระได้ตามต่้องการแล้ว เดินทางต่อไปยังท่าเรือ รอเรือนอก เรือเดินสมุทร เมื่อมีเรือก็จัดการบรรทุกพระศิลายวงทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นจำนวนมากไปเมืองไทย แต่เรือนอกจอดเฉพาะที่เกาะสีชัง จึงต้องให้เรือสำเภาจากเกาะพงัน ของ นาย ลิ้มข้ายผั้ง มาบรรทุกพระจากเกาะสีชัง ไปยังเกาะพงันอีกต่อหนึ่ง
พระศิลายวงมาถึงเกาะพงันเมื่อ พศ. 2450 (ร.ศ.126) หลังจากเข้าพิธีสมโภชเบิกพระเนตรพระเป็นเวลา 3 วัน โดยมีพระครูวิบูลย์ธรรมสาร (หลวงปู่เพชร วชิโร) ร่วมในพิธีนี้ด้วยแล้ว ก็แจกจ่ายพระไปตามวัดต่างๆในเกาะพงันและเกาะสมุย
สำหรับที่เกาะสมุยนั้น กล่าวกันว่า เรือบรรทุกพระ จากเกาะพงันมาจอดที่อ่าวโจ่งคร่ำ แล้วลำเลียงแจกจ่าย ไปตามวัดต่างๆ เท่าที่มีข้อมูลคือ วัดปลายแหลม วัดแจ้ง วัดสำเร็จ วัดนาราเจริญสุขฯ
นายเทือม ศรีขวัญ เล่าว่า พระศิลายวง วัดสำเร็จถูกอัญเชิญชักลากไปตามทางสัญจรยุคเก่า คือ จากโจ่งคร่ำผ่านคลอง(ตะ)กั่ว ไปตลิ่งพัง หน้าเมือง แล้ววัดสำเร็จ ส่วนพระที่วัดปลายแหลม หรือวัดแหลมสุวรรณาราม บางท่านว่าปัจจุบันสูญหายไปแล้ว
ในบรรดาพระทั้งหมด พระศิลายวงที่เป็นพระประธานในอุโบสถวัดสำเร็จ เกาะสมุย มีวรรณะ และพุทธลักษณะที่งดงามที่สุด ทั้งนี้คงเป็นเพราะพระดำ ใจกว้าง ซึ่งภายหลังได้ลาสิกขาบทแล้วรับหน้าที่เป็นแพทย์ประจำตำบลมะเร็ต ปรากฏในเอกสารเมื่อ พศ.2479 ว่าในปีนั้น ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ มีราชทินนามว่า 'หมื่นพยาธิบำบัด' อยู่แล้วซึ่งเป็นผู้ดำเนินการอัญเชิญพระศิลายวงจากมัณฑะเลย์มายังเกาะสมุยเป็นผู้มีนิวาสสถานอยู่ในละแวกวัดสำเร็จ ท่านจึงคัดเลือกพระองค์ที่สวยสมบูรณ์ที่สุดมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสำเร็จ
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ สมุยที่รัก ของ กวี รังสิวรารักษ์ หน้า 232-233 และหน้า 240 - 242

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น